พูดกันตามตรงแบบไม่อ้อมค้อมเลยว่า การท่องเที่ยวหรือทำรีวิวของพวกเรา นอกจากจะสร้างรายได้และพานักท่องเที่ยวไปสู่สถานที่ต่างๆ แล้ว แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเราคือ ‘ผู้ทำลาย’ เช่นกัน เพราะหากรีวิวหรือการเดินทางที่เราแนะนำไป นำพาซึ่งนักท่องเที่ยวที่เห็นแก่ประโยชน์และความสนุกของตนเองเป็นที่ตั้งแต่เพียงอย่างเดียว รีวิวนำเที่ยวเหล่านั้นคือฝันร้าย คือดาบสองคมที่เรากำลังแนะนำและทำร้ายสถานที่ ชุมชน หรือใครก็ตามที่อาจได้ผลกระทบอยู่ก็ได้
นี่เลยเป็นที่มาของการรีวิวนี้.. ชุมชนทั้ง 4 ของโครงการ Journey D ที่เราได้เข้าไปเรียนรู้ เข้าใจและสัมผัสถึงวิถีชุมชนแท้ๆ อ่านมาถึงตรงนี้ก็อย่าพึ่งทำหน้าเอือมแล้วคิดในใจว่า มันคือการมาพูดสวยๆ พาไปเที่ยวชุมชนแบบเดิมๆ หรือการเดินไปทำแค่ผ้ามัดย้อมสวยๆ ซักผืนแล้วกลับ เพราะเรากำลังพูดถึงการพาเที่ยวชุมชนให้ลึกซึ้งกว่าเดิม ลึกขนาดที่จะทำให้เธอหลงรักในหลายๆ อย่างที่เป็นเสน่ห์ของแต่ชุมชนแตกต่างกัน ทั้งในกระบี่ เชียงราย นครศรีธรรมราช และบุรีรัมย์
Journey D คือโครงการที่แอร์เอเชียตั้งใจมากๆ ในการทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของคนในชุมชนนั้นๆ ที่มีใจรักและพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพเพื่อให้มาสัมผัสชีวิต ความเป็นอยู่ ประเพณีและวัฒนธรรมอันหลากหลายของแต่ละชุมชน ทำให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจกันและกันมากขึ้น นักท่องเที่ยวเองก็จะได้อยู่ในแวดล้อมที่ดี เป็นกันเองทั้งผู้คนและธรรมชาติ ส่วนชุมชนก็จะได้มีรายได้จากนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ รักและให้เกียรติซึ่งกันและกัน เกิดเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป นี่เลยเป็นที่มาที่แอร์เอเชียมาชวนเราให้เดินทางด้วยกันและเราก็ตอบรับทันที!
ไม่ว่าเราจะมีทริปที่เน้นเดินทางต่างประเทศมากแค่ไหน ก็อยากมาลองให้ดูและสัมผัสประสบการณ์แบบบ้านๆ นี้ดูซักครั้ง ส่วนนึงลึกๆ แล้วเราคิดอย่างที่เขียนไปก่อนหน้านั้นจริงๆ ว่า ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าเราอาจจะเป็นผู้ทำลาย เพราะฉะนั้นนี่เป็นโอกาสดีมากๆ ที่นอกจากจะทำให้เราตระหนักและเรียนรู้เรื่องของชุมชนไปพร้อมกันแล้ว เราจะเป็นอีกกระบอกเสียง เป็นตัวแทนของคนที่ชอบเดินทางไปในที่สวยๆ และเน้นต่างประเทศเป็นหลัก เป็นตัวแทนของคนที่กินยาก และนอนยาก แต่รอบนี้ต้องเดินทางไปเที่ยวทั้ง 4 ชุมชนต้นแบบในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ เราเชื่อว่าถ้าเราเที่ยวได้.. ทุกคนก็ตามรอยเรามาได้เหมือนกัน ?
เอาหล่ะ! เราขอเริ่มรีวิวทุกชุมชนที่เราพึ่งเดินทางมา เพื่อเมาท์ให้เพื่อนๆ ฟังว่าแต่ละที่นั้นดีงามและน่ามาเที่ยวแค่ไหน ทุกๆ อย่างในรีวิวนี้ไม่มีการจัดฉากใดๆ ทั้งสิ้น เป็นการเดินทางท่องเที่ยวโดยชุมชนจริงๆ แบบชุมชนละ 2 วัน 1 คืน ที่ไม่ว่าใครจะไปตามรอยเราก็จะได้แบบเดียวกันทุกประการ แต่ขอให้จำไว้ให้ดีว่า .. ‘ท่องเที่ยวชุมชนต้องนัดล่วงหน้าเท่านั้น!’ เพราะทุกๆ ชุมชนมีอาชีพหลักเป็นของตัวเอง ถ้าไม่นัดเราอาจจะได้ทำกิจกรรมไม่ครบ แต่ถ้าเธอนัดและจองก่อน เธอจะได้ประสบการณ์ทุกอย่างแบบไม่รู้ลืมเลย
ดื่มด่ำที่ ‘พรหมโลก’
ถ้าเปรียบ ‘พรหมโลก’ เป็นคน ที่นี่คือหนุ่มหล่อที่ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติอย่างแยบยล มีดีในทุกๆ ด้านเป็นเสน่ห์ที่ใครๆ ก็อยากมาค้นหา เพราะพรหมโลกเป็นชุมชนที่อุดมสมบูรณ์มาก ทั้งป่า เขา น้ำตก ที่ทำให้เราสามารถเดินศึกษาธรรมชาติได้ทั้งปี หรือคลายร้อนด้วยลำธารและน้ำตกที่สามารถกระโดดเล่นน้ำเย็นๆ ได้ไม่รู้เบื่อ ที่สำคัญยังมีอาหารใต้รสเด็ดมากๆ จากฝีมือปลายจวักแม่ๆ ของแต่ละโฮมสเตย์ที่ติดใจอยากจะห่อกลับบ้าน นี่ยังไม่รวมสวนสมรมที่ปลูกผลไม้ให้มีกินได้ตลอดทั้งปี แอบกระซิบบอกเลยว่า ที่นี่คือสวรรค์ของคนรักธรรมชาติ มังคุดและทุเรียนบ้าน
เรามาถึงที่พรหมโลกตั้งแต่เช้าเพราะไฟลท์ของแอร์เอเชียสามารถบินตรงจากกรุงเทพ มาลงที่นครศรีธรรมราชได้ง่ายๆ มาถึงแล้วก็เข้าที่พักทันที ตอนที่เห็นโฮมสเตย์ที่เราพักคืนนี้ก็แอบยิ้มในใจและคิดถึงบ้านยายที่เชียงใหม่ขึ้นมาทันที บ้านไม้ยกสูง ที่ใต้ถุนเอาไว้นั่งทานข้าว กินผลไม้หรือนอนเอนหลังช่วงบ่ายๆ ยามลมโชย เห็นแบบนี้บอกเลยว่าไม่ร้อน เพราะพรหมโลกอยู่ติดเทือกเขาหลวงที่สูงที่สุดในภาคใต้ ตอนกลางคืนอากาศดีจนนอนหลับปุ๋ยทั้งคืน
พรหมโลก นั้นขึ้นชื่อมากๆ เรื่องมังคุดสดๆ ที่อร่อยที่สุด ถ้าเธอเป็นคนชอบกินราชินีของผลไม้ เธอจะรักที่นี่มากขึ้นเป็นทวีคูณ เพราะมังคุดที่หาซื้อในกรุงเทพโลละเกือบ 100 บาท จะกลายมาเป็นผลไม้ที่หาทานได้ง่ายเหมือนน้ำเปล่า ที่สำคัญคือไม่ต้องกลัวลูกไหนจะเสีย เพราะมังคุดพรหมโลกนั้นดีทุกลูกไม่มีเสียแม้แต่ลูกเดียว! อ้อ ในหมู่บ้านยังมี วังปลาแงะ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวพรหมโลกและชุมชนใกล้เคียง มาปั่นจักรยานผ่านทางน้ำหรือกระโดดน้ำยามเย็นก็ได้นะ
ช่วงสายๆ หลังจากเก็บของและพักผ่อนเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็เตรียมไปเดินสวนกันต่อ สวนที่นี่เราเรียกกันว่า สวนสมรม สวนสมรมคือการเกษตรแบบผสมผสานของภาคใต้ มันคือภูมิปัญญาของคนใต้ที่ปลูกทุกอย่างเอาไว้ด้วยกัน ทั้ง พืชผล ไม้ดอก พืชผัก ปลูกทุกอย่างในที่เดียวกันเพื่อให้พืชพึ่งพากันเองตามธรรมชาติ และมนุษย์อย่างเราๆ ก็จะได้มีผลผลิตกินกันได้ตลอดทั้งนี้ โดยไม่ต้องทำลายพืชชนิดใดชนิดหนึ่งเพื่อมาปลูกอีกชนิดนึง แต่สวนสมรมคือสวนเดียวได้กินทุกอย่าง อย่างเราตอนที่ไป ไปสวนของลุงชา ซึ่งปลูกทั้งทุเรียนบ้าน ลองกอง มังคุดและอีกหลายๆ อย่างไว้ด้วยกัน ทำให้การเดินสวนนั้นสนุกขึ้นมาก ไปสวนลุงชาครั้งเดียวเบื่อผลไม้ไปอีกนานเลย 555
อย่างที่บอกว่า ‘ท่องเที่ยวชุมชนต้องนัดล่วงหน้าเท่านั้น!’ เพราะว่าแต่ละชุมชนมีอาชีพเป็นของตัวเอง ถ้าไม่นัด บางกิจกรรมอาจจะไม่ได้ทำ หรือไม่มีเจ้าหน้าที่และชาวบ้านคอยดูแล เช่นการเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่อุทยานแห่งชาติเขาหลวงและไปกระโดดน้ำกันต่อที่น้ำตกพรหมโลก เราชอบกิจกรรมนี่สุดเพราะอาหารใต้ที่แม่ๆ จากโฮมสเตย์ทำเป็นปิ่นโตให้เราเข้าไประหว่างเดินป่านั้น อร่อยแบบน้ำหูน้ำตาไหล เดินเหนื่อยๆ วิวก็สวย แถมอาหารก็อร่อย รู้สึกโชคดีจังที่ได้มาที่นี่
ส่วนช่วงบ่ายด้วยความที่เรายังไม่เหนื่อย เลยมาทำผ้าบาติกกันต่อระหว่างทำมีชาวบ้านขับผ่านมาเห็นเลยทำยำมังคุดมาให้ทาน เป็นเรื่องราวดีๆ ที่น่ารักและอยู่แบบถ้อยที่ถ้อยอาศัยของคนที่นี่ มังคุด ผลไม้ที่หาทานได้ง่ายจะไม่มีความหมาย เลย ถ้าหากขาดน้ำใจและไมตรี ของธรรมดาแต่รู้สึกอบอุ่นอย่างบอกไม่ถูก ตอนที่ป้าคนนึงเดินถือเข้ามาแล้วบอกว่า ‘ป้าเอายำมังคุดมาฝาก น้ำยำป้าเด็ดที่สุด!’ 55555 เคลมเก่ง!
เราปิดท้าย 1 วันเต็มๆ ในพรหมโลกด้วยโชว์จากโนราห์ตัวน้อยที่เก่งมากๆ เป็นกิจกรรมที่เพิ่มเงินอีกนิดหน่อยก็ได้เห็นความน่ารักของน้องๆ ที่แต่งหน้าทำผมและชุดนั้นจัดเต็มมาก 5555 ส่วนวันที่ 2 ด้วยความที่ไฟลท์ของแอร์เอเชียกลับกรุงเทพจากนครศรีธรรมราชนั้นมีตลอดทั้งวัน เธอสามารถจะเว้นให้ตัวเองตื่นสายๆ ลงมานั่งกินมังคุดที่ใต้ถุนบ้านก่อนกลับกรุงเทพก็ได้ มันจะเป็น 24 ชั่วโมงที่มีคุณค่ามากๆ จนเธอหลงรักพรหมโลกแบบเราแน่นอน ?
อยู่แบบ ‘โคกเมือง’
นอกสายตา! ที่นี่คือจังหวัดนอกสายตาของเรามาตลอด บุรีรัมย์คืออะไรที่เราไม่เคยฝันถึงว่าจะมีอะไรให้เที่ยว แต่วันนี้รู้แล้วว่าได้ทิ้งใจไว้ที่นี่โดยฝากแม่ใหญ่ของบ้านโคกเมืองเอาไว้ และสัญญากันไว้ว่าจะกลับมาจกข้าวเหนียว ส้มตำกันใหม่เร็วๆ นี้ โคกเมืองคือชุมชนหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับปราสาทเมืองต่ำ และชาวบ้านได้ใช้ชีวิตกับแบบเรียบง่ายนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมากลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทรงคุณค่าอีกด้วย
เราถึงโคกเมืองช่วงบ่ายเพราะคิดว่าไปตั้งแต่เช้าอาจจะร้อนแน่ๆ สำหรับภาคอีสานฤดูนี้ ชุมชนโคกเมืองอยู่ห่างจากสนามบินบุรีรัมย์ที่แอร์เอเชียบินตรงมาจากกรุงเทพประมาณ 60 กิโลเมตร หลังจากเข้าเขตหมู่บ้านสิ่งที่เราได้ทำคือเปลี่ยนจากรถตู้เป็นรถอีแต๋นคันใหญ่ ใส่หมวกปีกกว้างและกระโดดขึ้นรถเพื่อไปเอาโคลนบารายพันปีจากกุฏิฤาษีและบารายหน้ากุฏิที่ชาวบ้านเชื่อว่านี่คือโคลนโบราณที่เอามาหมักผ้าก็ทำให้ผ้านุ่มขึ้นและสีติดทนนานกว่าเดิม
กุฏิฤาษีบ้านโคกเมือง นี้เค้าเชื่อกันว่าเป็นกลุ่มเดียวกับปราสาทของโบราณที่มีอยูในเสียมราฐ หน้าที่ของมันในสมัยก่อนโรงสถานพยาบาลหรือ อโรคยาศาลเอาไว้รักษาโรค ความเชื่อของชาวบ้านก็ยังเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตอยู่ที่นี่คอยดูแลกุฏิและบารายหรือทะเลเมืองต่ำให้ชาวบ้านมานำโคลนไปใช้หมักผ้าเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ของชาวโคกเมืองต่อไป และจะมีลุงคนนึงที่อาศัยอยู่แถวนั้นจะเป็นคนที่งมโคลนเก่งที่สุด! ขาประจำของบ้านโคกเมือง ถ้าเจอเดินอยู่หนวดยาวๆ ไม่ใส่เสื้อก็ใช้เลย แกบอกเราว่าไม่ใส่เสื้อ เพราะใส่ไม่ได้ใส่แล้วคันมาก 555 ปราสาทเมืองต่ำนั้นถ้าใครมาเที่ยวแนะนำให้มาช่วงเช้านะแสงกำลังดีเลยหล่ะ
ผ้ามัดย้อมที่นี่แตกต่างจากที่อื่นเพราะต้องหมักโคลนจากบารายพันปี! เราขอไม่ลงรายละเอียดว่าผ้ามัดย้อมเค้าทำกันยังไงเพราะเชื่อว่าตั้งแต่เธอไปทัศนศึกษาตอนเด็กก็ต้องเคยลองทำผ้ามัดย้อมมาแล้วทั้งนั้น ความพิเศษของที่นี่คือใช้สีจากธรรมชาติทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเปลือกไม้ต่างๆ หรือสีของดอกไม้และผลไม้ก็คือสีธรรมชาติทั้งนั้น เอาผ้ามามัดให้เป็นลายที่เราต้องการ และขั้นตอนสุดท้ายคือต้องเอามาหมักโคลน เราจะได้ผ้ามัดย้อมสีตุ่นๆ จากโคลนบารายพันปี และเนื้อผ้าที่นุ่ม
การมาเที่ยวชุมชนแบที่เราจองก่อนล่วงหน้าทำให้ได้ทำกิจกรรมที่ครบครันมากๆ เพราะแม่ๆ แต่ละบ้านจะอยู่รอต้อนรับและคอยสอนให้เราเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนอยู่เสมอๆ ไม่มีกำหนดเวลา ไม่รีบ ไม่เร่ง นั่งคุยกันสนุกสนานตามประสาคนต่างวัยและต่างถิ่นที่นานๆ จะมาเจอกันซักครั้ง
เราไปต่อกันที่การทำเสื่อกกของบ้านโคกเมือง เสื่อกกของแม่ยุพิน แม่ยุพินเป็นคนที่น่ารักมากๆ เราซื้อมังคุดจากพรหมโลกมาฝาก แม่บอกว่าเอาไว้กินกับข้าวตอนเช้าอร่อยมาก และเผลือกของมันต้องห้ามทิ้งนะเพราะจะเอาไว้ย้อมผ้าย้อมเสื่อต่อ วิธีการทอเสื่อไม่ได้แตกต่างจากการทอผ้าแต่ความพิเศษคือสีที่มีการเอาไปหมักโคลนด้วยเช่นกัน และมีการนำลวดลายของปราสาทเมืองต่ำเช่นลายผัดกูดมาทำเป็นลายของเสื่อด้วย เสื่อของที่นี่ถูกบรรจงทอออกมาอย่างปราณีตแถมราคาถูกมากๆ แนะนำถ้าได้มาควรซื้อกลับบ้านซักผืนสองผืนนะ
ช่วงเย็นๆ ก็เป็นเวลาที่เราชอบมากที่สุดเพราะอาหารอร่อยมากกก แถมมีพิธีบายศรีสู่ขวัญที่ทำให้เราประทับใจอีกด้วย รัก!
เช้าวันที่ 2 ในโคกเมืองเราตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ตามแม่ๆ ลงมาใส่บาตรพระให้จิตใจร่มเย็นและสบายใจ จากที่พวกเราเป็นคนสวยอยู่แล้ว พอยิ่งทำบุญเข้าไป โอ้โหทีนี้แหละ สวยกว่าเดิมเข้าไปอีก 5555 จากนั้นเราก็ไปปั่นจักรยานเล่นรอบปราสาทเมืองต่ำรวมถึงเข้าไปดูด้านในและปั่นจักรยานผ่านอุโมงค์ต้นไม้ที่ดูเป็นมุม Instagramer เบาๆ พร้อมนอนเปล และนั่งเสื่อจกส้มตำกันตั้งแต่เช้า เชื่อมั้ยว่ากิจกรรมที่บอกมาเริ่มตั้งแต่ 6 โมงเช้าไปจนถึงเก้าโมง ไม่มีเหนื่อยเลยซักนิด สนุกมากกก
ปราสาทหินเมืองต่ำเป็นปราสาทที่สมบูรณ์และสวยงามเพราะผ่านการบูรณะและช่วงกันบำรุงรักษาจากชาวบ้านมาหลายสิบปี เราปั่นจักรยานเล่นรอบๆ และเข้าไปเดินชมปราสาทเมืองต่ำยามเช้า บอกเลยว่าควรค่าแก่การมาจริงๆ นะ
ก่อนบอกลาโคกเมืองเราแวะไปทานอาหารที่บ้านแม่น้อย แม่น้อยเหมือนเป็นประธานชุมชนที่คอยดูแลจัดการการท่องเที่ยวภายในชุมชนร่วมกับแม่ๆ อีกหลายคนเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวแบบเข้าถึง เข้าใจและยั่งยืนจริงๆ แม่น้อยเอาบ้านตัวเองมาเป็นเชฟชุมชนเลี้ยงอาหารเราก่อนลากันที่โคกเมือง แนะนำว่ากินอาหารบ้านๆ แบบไข่เจียวกับกุ้งจ่อมของดีของอำเภอประโคนชัยและชุมชนโคกเมืองนะ แซ่บอีหลีเด้อ!
อีสานคือภาคที่เราไม่เคยมาเที่ยวมาก่อน (ยกเว้นเขาใหญ่) โคกเมืองคือเมืองแรกและชุมชนแรกที่เรามาเที่ยวแบบจริงจัง และทำให้รู้สึกประทับใจ การดูแลที่ดี การเข้าใจและต้อนรับอย่างมีไมตรีและเป็นมิตรเป็น 2 วัน 1 คืนที่รู้สึกว่าสั้นไปนิดนึงแต่ก็พอให้คิดถึงกันเพื่อให้กลับไปเยือนใหม่อีกเร็วๆ นี้ ?
เล่นแบบ ‘ผาหมี’
ลึกเข้าไปริมแนวตะเข็บชายแดดของจังหวัดเชียงราย ยังมีหมู่บ้านเล็กๆ ซ่อนอยู่ในหุบเขาท่ามกลางบรรยากาศที่สวยงาม ธรรมชาติโอบล้อม พร้อมวิถีชีวิตของชาวอาข่าผาหมีที่เป็นเอกลักษณ์และรอต้อนรับนักท่องเที่ยวให้มากิน มาเล่น มาสนุกด้วยกันแบบต้นตำรับของอาข่าผาหมี
มาค่ะ! จากอีสานเราขอแนะนำกันต่อที่จังหวัดที่สูงที่สุดในประเทศไทย กับหมู่บ้านผาหมีที่มีภูเขาโอบล้อม และมีหมอกลอยฟุ้งในช่วงเช้าของหน้าฝนและหน้าหนาว เราเดินทางกับไทยแอร์เอเชียที่มีเที่ยวบินจากกรุงเทพ หาดใหญ่ และภูเก็ตมายังเชียงรายทุกวัน หรือถ้าอยากแวะเที่ยวเชียงใหม่ด้วยก็สามารถบินตรงมาลงเชียงใหม่ ก่อนขับรถขึ้นมาเที่ยวเชียงรายก็ได้เช่นกัน เราใช้เวลาที่ผาหมีกันแบบ 2 วัน 1 คืนทำกิจกรรมร่วมกัน สูดอากาศและดมกลิ่นกาแฟยามเช้า พร้อมสัมผัสวิถีชีวิตของชาวอาข่าผาหมีร่วมกันแบบกลมกล่อมที่สุด
เรามาถึงผาหมีช่วงสายๆ ก็รีบตรงไปร้านกาแฟดอยผาหมีเพราะนัดกันไว้ เพื่อไปทานอาหารแบบชาวอาข่าที่เอาทุกอย่างวางลงบนใบตองแผ่นใหญๆ และกินร่วมกัน อาหารอร่อยมาก ถ้ามาอยู่ที่นี่บ่อยๆ ต้องผอมแน่นอนเพราะเน้นผักและปลา แต่ผักสดๆ ที่นำมาปรุงรสนั้นรสชาติดี ไม่มีสารพิษด้วยนะ อร่อยมากกกกกกกกกก รสชาติของอาหารผาหมีจะไม่เผ็ดมากใครๆ ก็ทานได้ เด็กๆ ก็น่าจะชอบ
บ้านผาหมียังโด่งดังในเรื่องของการทำกาแฟด้วยนะ อยากชวนกันมาดริปกาแฟด้วยกระบอกไม้ไผ่ เคล็ดลับของกาแฟที่นี่คือต้องตำด้วยตัวเองจนละเอียด แล้วกรองผ่านกระดาษเพื่อให้ได้กาแฟที่หอมกรุ่น และอร่อยด้วยฝีมือของเธอเอง เมื่อก่อนที่นี่คือพื้นที่อันตรายที่ใครๆ ก็ไม่กล้าเข้ามาแต่พอในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเราเข้ามามอบความรู้ พัฒนา และเปลี่ยนพื้นที่บนผาหมีให้กลายเป็นพื้นที่ที่มอบความสุขให้กับชาวอาข่าอีกครั้ง กาแฟก็เป็นอีกหนึ่งผลผลิตของผาหมีที่น่าประทับใจ
เสร็จจากอาหารแบบชาวอาข่าและกาแฟหอมๆ เรามาเล่นโล้ชิงช้ากันต่อ นี่คือประเพณีของชาวอาข่าที่เกิดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตต่างๆ ของชาวอาข่า การเล่นโล้ชิงช้าจะมีเจ้าหน้าที่และชาวบ้านดูแลอย่างใกล้ชิด เสียวนิดหน่อย แต่บรรยากาศดีมาก เราจะได้เห็นวิวที่เขียวขจีแบบสุดลูกหูลูกตา จริงๆ มีชิงช้าด้วยนะแต่เราไม่ได้เล่นเพราช่วงที่ไปมันเสียหลังจากฝนตกหนัก
จากนั้นเราขึ้นไปเที่ยวดอยช้างมูบซึ่งอยู่แนวตะเข็บชายแดนใกล้ขนาดที่ว่าก้าวขาข้ามไปคือประเทศพม่าแล้ว ด้านบนมีร้านกาแฟเล็กๆ ของพี่ทหารที่ใครคอแห้งก็พอช่วยให้ชื่นใจได้บ้าง ส่วนบรรยากาศและวิวนั้นสวยสุดลูกหูลูกตาตามภาพเลย
ช่วงเย็นมื้อค่ำของเรานั้นเซอร์ไพรส์มากๆ กับลาบหมูแบบอาข่าที่อร่อยอย่างไม่น่าเชื่อ บวกกับไข่เจียวร้อนๆ ที่พี่ชาวอาข่าทำให้สดใหม่ และผัดนึ่งสดๆ กับน้ำพริกที่กลมกล่อม กับวิวบ้านผาหมีที่ทำให้กินข้าวอร่อยมากกว่าเดิมไปอีก 5555555 อ้อ! หลังจากกินเสร็จพี่ๆ และแม่ๆ ชาวอาข่าจะมีการแสดงเล็กๆ น้อยให้เราดูพร้อมร่วมสนุก บอกตามตรงว่าฟังไม่รู้เรื่องหรอกแต่แค่ได้โยกตัวตามและเต้นไปกับรอยยิ้มก็มีความสุขแล้ว เป็นอีกมื้อที่เรียกได้ว่ามื้อคุณภาพทั้งอาหารและฟีลลิ่งเลย
บางคนอาจจะสงสัยว่านี่คือชุดที่พี่ๆ ชาวอาข่าใส่ทั้งวันเลยหรอ ก็บอกเลยว่าไม่ใช่สุดพวกนี้มีราคาที่แพงมากเพราะทำจากเครื่องเงินแท้ๆ พี่ๆ จะหยิบมาใส่ก็ต่อเมื่อมีแขกมาเยือนแบบพวกเรา หรือเทศกาลและงานสำคัญๆ เท่านั้น ย้ำอีกรอบเลยว่าถ้าอยากเที่ยวชุมชนต้องแจ้ง ต้องจองและบอกล่วงหน้านะ เพื่อให้ได้สัมผัสและ Experience ทุกอย่างของชุมชน
เราพักกันที่ บูซอโฮมสเตย์ อย่าไปคิดว่ามาบนป่าบนเขาจะต้องกางเต็นท์นอน หรือใช้ชีวิตแบบยากลำบาก เพราะถ้ายากขนาดนั้นเราเองก็ไม่ไปเหมือนกันค่ะ 5555 เพราะชีวิตนี้เป็นคนรักสบาย และห้องน้ำสกปรกนิดเดียวก็ไม่เข้าแล้ว แต่ที่นี่สะอาด ผ้าปูที่นอนหอม นุ่ม ข้าวต้มตอนเช้าก็อร่อยอย่าบอกใครเลย ส่วนวิวยามเช้าหน่ะหรอ? ให้ภาพเล่าเรื่องเหมือนเดิมละกันว่าอากาศบนดอยมันดีแค่ไหน ผสมกับแดดอ่อนๆ รูปที่ออกมานึกว่าอยู่ต่างประเทศ!
เช้าวันที่ 2 ในผาหมีเราตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกสดชื่นเป็นพิเศษ เธอลองหลับตาแล้วจินตนาการตามนะ ว่าบนเตียงที่นุ่มมาก เธอขดตัวอยู่ในผ้าห่มแสนอุ่น ที่อากาศข้างนอกเย็นจนไม่ต้องเปิดแอร์ หรือพัดลมซักตัว ซักพักก็มีคนมาเรียกให้ไปทานข้าวต้มร้อนๆ และเครื่องดื่มซักแก้วยามเช้า คิดดูสิมันฟินแค่ไหน! นี่แหละคือสิ่งที่เราเจอและสัมผัสมาในผาหมี
เราใช้เวลาครึ่งวันเช้าทำกิจกรรมที่ถือได้ว่าเป็นไฮไลท์ของที่นี่เหมือนกันนั่นคือการตำข้าวปุก ข้าวปุกเป็นข้าวเหนียวที่เอามาตำละเอียดมากๆ จนเหมือนขนมโมจิ นี่คือกิจกรรมที่จะทำกันก็ต่อเมื่อมีเทศกาลหรืองานมงคลเท่านั้น แต่ถ้าจองมาก่อนเราก็จะถือว่ามีแขกบ้านแขกเมืองมาซึ่งก็จะได้ดูตำข้าวปุกเหมือนกัน ข้าวปุกเป็นตัวแทนความห่วงใยซึ่งกันและกันด้วยนะ
ส่วนอีกกิจกรรมหนึ่งคือการทอผ้า ซึ่งชาวอาข่าเค้าจะทำเองทั้งหมดตั้งแต่ขั้นตอนการตีด้ายให้แดก ซึ่งดูเหมือนจะง่ายแต่โคตรยาก เป็นงานฝีมือที่ละเอียดและต้องมีสมาธิจริงๆ ถึงจะทำได้ รวมไปถึงลวดลายต่างๆ บนชุดประจำเผ่าก็ปักกันเอง
ก่อนกลับจากผาหมีแม่ๆ ชาวอาข่าจะทำการเรียกขวัญให้เรากลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว พร้อมกับอวยพรให้โชคดีและมีสุขภาพแข็งแรงไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ พร้อมกับมอบไข่ต้มสีแดงให้หนึ่งลูกแทนความผูกพันที่มีให้กันและให้เราสุขภาพแข็งแรง และมีแต่เรื่องดีๆ ในชีวิต ฮื้ออออ ซาบซึ้ง เราชอบมากๆ กับการเข้าไปเรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์แบบนี้ เป็นกิจกรรมใหม่ๆ ที่นอกจากจะหาทำที่ไหนไม่ได้แล้ว ยังรู้สึกอบอุ่นอย่างบอกไม่ถูก ใครชอบทำกิจกรรมสนุกๆ สูดอากาศบริสุทธิ์ ผาหมีคือชุมชนที่เธอควรมาสัมผัสซักครั้งแล้วจะหลงรักแม่ๆ ชาวอาข่าจนอยากกลับมาบ่อยๆ เหมือนเรา
กินแบบ ‘เกาะกลาง’
ถ้าไม่สด เราก็ไม่กิน! คำนี้อาจดูเหมือนลูกคุณหนูเอาแต่ใจแต่จริงๆ แล้วเป็นคำที่แม่ๆ บ้านเกาะกลางบอกเรา ไม่ต้องแปลกใจหรอก เพราะบ้านเกาะกลางที่ห่างจากตัวเมืองเพียงแค่ 5 นาทีโดยต้องโดยสารทางเรือมาเท่านั้น เป็น 5 นาที วิถีเปลี่ยนไปสู่ชุมชนมุสลิมในเกาะกลาง ที่อาหารทะเลคือชีวิต ต้องสด ต้องใหม่ และอร่อยเท่านั้นถึงจะนำมาทานเองและเสิร์ฟให้กับลูกๆ ที่มาเยือน
เราเดินทางจากกรุงเทพมายังกระบี่ไฟลท์กลางคืนเพื่อมานอนพักในบ้านเกาะกลาง ซึ่งโฮมสเตย์ของที่นี่ดีจนไม่อยากบอกใคร กลัวมีคนมาแย่งนอน ก่อนตื่นมาทำกิจกรรมแน่นๆ ตลอดทั้งวัน แต่ไม่รู้สึกเหนื่อยหรือเบื่อซักนิดเพราะรางวัลของคนเที่ยวเก่งคือโรตีมะตะบะที่ดีที่สุดเท่าที่เคยกินมา กับอาหารทะเลสด
มื้อเช้ามื้อแรกก็ประทับใจแล้ว! ตื่นเช้ามาเจอข้าวคลุกกระปิ กับไก่หวานหอมมัน พร้อมน้ำชาข้าวสังข์หยดที่ปลูกบนเกาะกลางที่เดียวบนกระบี่ นั่งล้อมวงกินข้าวยามเช้ากับ เป็นการเติมพลังชั้นดีก่อนตะลุยเที่ยวและกินในเกาะกลางทั้งวัน 5555
เราเดินไปดูนาข้าวสังข์หยด ซึ่งรอบนี้เรามาไม่ทันช่วงข้าวออกรวง แต่มีโอกาสได้ชิม ซึ่งมันมีทั้งรสหวาน และเค็มกำลังดีอยู่ในคำๆ เดียว ผสมกับความมันของข้าว กินกับอาหารทะเลก็อร่อย! แล้วเราก็ลงเรือผ่านป่าชายเลนเพื่อไปเที่ยวที่เขาขนาบน้ำในช่วงเช้า มากระบี่ก็หลายครั้งแต่พึ่งเคยมาเป็นครั้งแรก ข้างในถ้ำนั้นสวยมาก
เราใช้เวลาจนถึงประมาณ 10 โมงก็กลับมาแถวๆ หน้าหมู่บ้านอีกครั้ง เพื่อมาหาของสดๆ ไปทำอาหารเที่ยงกันจ๊ะ และม๊ะ (คำเรียกภาษาใต้แปลว่าพี่สาวกับแม่) ทั้งปลาเก๋าตัวใหญ่ๆ และสาหร่ายทะเลก็เก็บจากหน้าบ้านกันได้เลย เพื่อเอามาทำอาหารเที่ยงร่วมกัน เราได้ลองทำทุกอย่าง
อย่าลืมลองชิมขนมหวานจากข้าวสังข์หยดนะ มาในลูกมะพร้าวอ่อนสวยงาม หอมน้ำกะทิ หวานมันส์ อร่อยมากกกกกกก
มาเกาะกลางเราเน้นกิน กิน กินและก็กิน! อิ่มจากของคาวก็ไปต่อกันที่ของหวาน พร้อมนั่งทำกิจกรรมสไตล์คนสวยที่ร้าน คิดถึง คอตเทจ เราชอบร้านนี้มากๆ เพราะเค้าทำทุกอย่างให้ดูมีสตอรี่ ทำให้รู้ว่าผ่านการคิดมาแล้ว ทั้งคุ๊กกี้ที่เอาดอกไม้ที่หาได้เฉพาะบนเกาะกลางมาเป็นหน้าคุ๊กกี้ หรือน้ำของสีดอกอันชัญเป็นตัวแทนน้ำทะเลแห่งอันดามัน เห็นมะ! คือนางคิดมาดีแล้วจริงๆ เลยขอชมเชยเลย และพี่เจ้าของร้านก็ใจดีมาก มานั่งสอนเราทำโปสการ์ดจากสีธรรมชาติกันต่อ ความเก๋ของสีธรรมชาตินี้คือปล่อยไว้นานๆ จะกลายเป็นสีซีเปียทำให้สวยไปอีกแบบ
กิจกรรมสุดท้ายก่อนเรากลับกรุงเทพคือไปลองทำโรตี ถ้าชอบกินโรตีแบบเรา โรตีที่นี่จะถูกปากเธอมากแน่นอน เพราะหอม อร่อย แป้งกรอบ และพิถัพิถันในการทำมาก ที่สำคัญที่สุดคือสะอาด! เธอจะได้ลองทำโรตีจากฝีมือเธอเองที่เริ่มตั้งแต่การทอดและการนวดแป้ง
เสน่ห์ของเกาะกลางคือความมีไมตรีที่ไม่ว่าใครผ่านไปผ่านมาก็มีความสุขกับเสียงหัวเราะ รักจริงแบบคนใต้ที่อยู่ด้วยแล้วสนุก เกาะกลางสำหรับเราคือครัวขนาดใหญ่ที่มีทั้งขนมอร่อยๆ อาหารทะเลสดๆ ให้กินได้ตลอดทั้งวัน บวกกับความมีไมตรีที่ทำให้เรารู้สึกคุ้นเคยด้วยแล้วนั้น เกาะกลางคืออีกหนึ่งชุมชนที่เธอควรมาสัมผัสไม่แพ้ 3 ชุมชนด้านบนที่เราเล่าไปแล้วเลย
ทั้ง 4 ชุมชนที่เราเล่าให้ฟังนั้นคือชุมชนต้นแบบในโครงการ Journey D ของแอร์เอเชียที่ต้องการสนับสนุนการท่องเที่ยวโดยชุมชน ทุกๆ กิจกรรมที่เราทำใน 4 ชุมชนไม่ว่าจะเป็น พรหมโลก / โคกเมือง / ผาหมี และเกาะกลางเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ โดยไม่ได้แสดงหรือจัดฉาก ความน่ารักของคนในชุมชน อาหารที่อร่อยทุกมื้อ และรอยยิ้มที่ยินดีกับการมาเยือนของเราที่ทำให้รู้สึกอบอุ่นหัวใจ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมด และเธอจะได้สิ่งเดียวกันกับที่เราได้เมื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองมาลอง
ก่อนเราจะมาก็เต็มไปด้วยความกังวล จะอยู่ได้มั้ย จะกินได้รึป่าว แต่พอได้มาแล้วกลับไม่อยากกลับ คิดถึงรอยยิ้มที่จริงใจ และดีใจมากๆ ที่ตัดสินใจมาลองเที่ยวให้ครบทุกชุมชน เธอจะได้รับอะไรบางอย่างแบบที่ไปเที่ยวประเทศไหนก็ให้เธอไม่ได้
และสำหรับใครก็ตามที่ตัดสินใจแล้วว่าจะมาเที่ยวแบบเราซักครั้ง สามารถดูรายละเอียดโปรแกรมแบบเต็มๆ 2วัน 1 คืนได้ทาง http://journey-d.com/ เพื่อนๆ สามารถซื้อโปรแกรมทัวร์ผ่านทางเว็บไซต์หรือติดต่อซื้อโดยตรงกับชาวบ้านตามรายละเอียดเบอร์ที่เราให้ไว้ของแต่ละชุมชน เพราะไม่ว่าจะซื้อผ่านเว็บไซต์หรือติดต่อชาวบ้านเอง เงินทั้งหมดก็จะกลายเป็นรายได้ของชาวบ้านจากการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่าง 100%
ชุมชนพรหมโลก จ.นครศรีธรรมราช ติดต่อ
– นางสาวสุภาพร เชาวพ้อง (พี่สาว) 081-081-9150,
– นางสาวสุดา เฉลิมวรรณ (พี่สุดา) 087-273-3259
ชุมชนโคกเมือง จ.บุรีรัมย์ ติดต่อ
– นางส้มเกลี้ยง สืบวัน ( พี่น้อย) 088-193-8840
ชุมชนเกาะกลาง จ.กระบี่ ติดต่อ
– นางสาวโสภา เกาะกลาง (พี่โสภา) 086-072-7860
– นายปรมัตถ์ ช่วยการ (พี่มัต) 0814947470
ชุมชนผาหมี จ.เชียงราย ติดต่อ
– นางสาวผกากานต์ รุ่งประชารัตน์ (พี่แมว) 089-449-7942
– นางสาวรวิมล มงคลธนภูมิ ( พี่แก้ว) 085-678-8508